7 หนังสารคดีไทยชั้นดี ที่คอหนังควรหาโอกาสชมสักครั้ง

7 หนังสารคดีไทยชั้นดี

หนังสารคดี เป็นอีกหนึ่ง Genre ที่ในไทยไม่ได้มีมาให้ชมบ่อย ๆ นัก แต่ว่าทุกครั้งที่มีหนังแนวนี้มาให้ได้ชม ก็ล้วนแต่เป็นที่สนใจของเหล่าคอหนัง และคนที่สนใจ ชื่นชอบในเรื่องนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสารคดีของตัวบุลคลใด บุคคลหนึ่ง หรือสารคดีประวัติศาสตร์ การเมือง

ในบทควานมนี้เราเลยได้รวบรวม 7 หนังสารคดีไทยที่ไม่ควรพลาด และเปี่ยมด้วยคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นการตัดต่อ ประเด็นการนำเสนอ ที่ดูจบแล้วนอกจากสาระความรู้แล้ว คนดูอาจยังได้ตั้งคำถามต่อประเด็นนั้น ๆ ที่สารคดีนำเสนอที่สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตจริงได้

  • The Master

ผลงานหนังสารคดีขนาดยาวเรื่องแรกของ เต๋อ นวพล ธำรงค์รัตนฤทธิ์ (ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ) ที่หยิบเรื่องราวของร้านขายวีดีโอเถื่อนย่านจตุจักรที่โด่งดังในอดีตที่มีชื่อว่าร้าน “พี่แว่น” มานำเสนอผ่านการสัมภาษณ์เหล่าผู้กำกับ นักวิจารณ์ และอาจารย์สอนภาพยนตร์เบอร์ต้น ๆ ของไทย โดยหนังจะพาเราไปย้อนถึงช่วงเฟื่องฟู และบทบาทของร้าน “พี่แว่น” ในช่วงเวลาที่หนังอินดี้ยังเป็นของหายากในประเทศไทย ทำให้นักดูหนังต่างต้องพึ่งวีดีโอเถื่อนเพื่อศึกษา และเสพงานเหล่านั้น พร้อมตั้งคำถามว่า ผิดหรือไม่? ที่คนดูหนังจะเสพสื่อที่ผิดลิขสิทธิ์ เพียงเพราะโอกาสที่คว้าไม่ถึงสิ่งที่ถูกลิขสิทธิ์ในช่วงเวลานั้น

เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสารคดีที่คอหนังไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง เพราะ The Master ไม่ได้เพียงแค่นำเสนอชีวประวัติของร้านวีดีโอเถื่อนเท่านั้น

แต่สารคดีเรื่องนี้ยังเปรียบเสมือนการพาคนดูไปร่วมฟังเสวนาการพูดคุยเรื่องหนังอินดี้จากเหล่าบุคลากรผู้มีบทบาทสำคัญในวงการหนังไทยอย่างเมามันส์ เข้มข้น ตั้งแต่ต้นจนจบ นอกจากนี้สารคดีเรื่องนี้ตัว นวพล ผู้กำกับเอง ก็ยังได้ใส่ความทรงจำของตัวเองที่มีต่อร้าน “พี่แว่น” ลงไปในหนังอย่างเต็มเอี่ยม ใครที่อยากหาหนังสารคดีไทย ที่รวมเนิร์ดหนังมาคุยกันแบบสนุก ๆ เรื่องนี้ไม่ควรพลาด

ตัวอย่าง TheMaster

  • Girl Don’t Cry

ผลงานการกำกับสารคดีเรื่องที่สองของ นวพล ที่ครั้งนี้เขาได้ร่วมกับ Salmon และ I AM เพื่อทำหนังสารคดีที่ว่าด้วยสมาชิกวง BNK48 รุ่นแรก โดยเรื่องนี้ นวพล ก็ได้ทำการสัมภาษณ์สมาชิกในวงทั้งหมด และได้นำเสนอประเด็นของการแข่งขันในวง การเติบโตของเหล่าหญิงสาวที่ต่างมีความฝันของตัวเอง เรียกได้ว่าเป็นงานที่ทำมาเพื่อนำเสนอด้านที่คุณอาจไม่เคยเห็นของเหล่าสาว ๆ สมาชิกวง BNK48 ก็ว่าได้

สำหรับ Girl Don’t Cry เป็นสารคดีที่ต่างจาก The Master โดยสิ้นเชิง โดยเรื่องก่อนหน้าจะมาในแนวชีวประวัติ และการตั้งคำถาม แต่สำหรับเรื่องนี้จะเป็นสารคดีที่ว่าด้วยชีวิต และการแข่งขัน อันดุเดือดของเด็กสาว

ตัวหนังจะหนักดราม่า และหยิบชีวิตของสมาชิกวง BNK48 มานำเสนอให้ดูดาร์ค ดูจริงจัง ผิดกับภาพจำของหลาย ๆ คนที่เห็นว่าพวกเธอเป็นวงไอด้อลใส ๆ ซึ่่งในเรื่องนี้ นวพล ก็ได้สามารถถามคำถามที่สะท้อนจิตใจของแต่ละคนออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม พร้อมทั้งยังตัดต่อ นำเสนอเนื้อหาออกมาได้ถึงอารมณ์ ราวกับว่ากำลังดูหนังชีวิตเข้มข้น ๆ เรื่องหนึ่งก็ว่าได้

ตัวอย่าง Girl Don’t Cry

  • Final Score 365 วันตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์

หนังสารคดีเรื่องแรก ๆ ที่เป็นที่รู้จักในวงกว้างของไทย ผลงานการสร้างโดย GTH ในยุคที่ยังมีหนังหลากหลายแนวทาง ตัวหนังกำกับโดย โสรยา นาคะสุวรรณ โดยหนังเรื่องนี้คือการบันทึกเรื่องราวของเด็กนักเรียน ม.6 ของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ที่กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี่ยวหัวต่อในการก้าวผ่านจากเด็กมัธยม สู่รั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งพวกเขาต้องเตรียมตัวเพื่อสอบเอนทรานซ์ โดยนอกจากการทำข้อสอบให้ได้คะแนนดี ๆ แล้ว พวกเขาก็ยังต้องมาตั้งคำถามกับตัวเองด้วยว่าความฝัน กับอนาคตของตัวเอง จะสามารถหล่อหลอมให้มันเป็นสิ่งเดียวกันได้หรือไม่

สำหรับ Final Score เป็นสารคดีที่ค่อนข้างมีความใหม่ และแตกต่างในหนังไทยยุคนั้นอยู่มาก เพราะมันไม่ได้นำเสนอชีวิตของคนดัง คนมีชื่อเสียง แต่หนังพูดถึงชีวิตเด็กวัยรุ่นธรรมดา ๆ ซึ่งหนังเรื่องนี้ก็ทำหน้าที่บันทึกเหตุการณ์ในชีวิตในช่วงเวลาตลอด 1 ปีในชั้น ม.6 ของพวกเขา

ซึ่งหนังก็ได้แจ้งเกิดให้กับ เปอร์ สุวิกรม ที่หลังจากนั้นได้กลายเป็นพิธีกรรายกายที่สร้างแรงบันดาลใจมากมาย สิ่งที่ได้จากหนังเรื่องนี้เลยอาจไม่ใช่ความรู้ แต่มันคือความเรียลของชีวิตเด็กไทย ที่ต้องต่อสู้แข่งขันกันในระบบการศึกษา พร้อมทั้งยังเป็นหนัง Coming-of-Age ไทยที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง ที่สามารถรับชมกันได้ทั้งครอบครัว

ตัวอย่าง Final Score 365

  • 2215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว

หนังสารคดีที่สร้างมาเพื่อเชิดชูวีรกรรม และความเสียสละของ ตูน Bodyslam โดยเป็นการบันทึกเหตุการณ์ในโครงการ “ก้าวคนละก้าว” ที่เขาได้วิ่งจากใต้สุด ไปเหนือสุดของประเทศไทย เพื่อหาเงินบริจาคจากคนไทย โดยจะนำเงินที่ได้นี้ไปใช้ในการช่วยเหลือโรงพยาบาลทั่วประเทศ ซึ่งสารคดีเรื่องนี้ก็ได้รวมรวมภาพประทับใจ รวมถึงปัญหา และอุปสรรคระหว่างทาง ที่เมื่อดูจบแล้วคุณจะต้องตกหลุมรักผู้ชายที่ชื่อว่า อาทิวราห์ คงมาลัย มากขึ้นไม่มากก็น้อย

สารคดีเรื่องนี้เรียกได้ว่าเป็นงานที่มาในโทนเดียวกับ Final Score คือการไม่ได้เน้นให้ความรู้ หรือสาระมากนัก แต่หนังจะเน้นไปที่การบันทึก รวบรวมเหตุการณ์ในช่วงที่มีการโครงการ “ก้าวคนละก้าว” ความโดดเด่นของสารคดีเรื่องนี้คือรูปแบบการตัดต่อ และดำเนินเรื่องที่ชวนติดตาม พร้อมเพลงประกอบที่เข้ากับภาพในเรื่องอย่างลงตัว เมื่อดูแล้วจะให้อรรถรสเหมือนว่าเรากำลังดูมิวสิควีดีโอเพลงขนาดยาว เรียกได้ว่าเป็นหนังสารคดีที่นอกจากจะให้ความบันเทิง ความสนุกแล้ว ยังเปี่ยมไปด้วยความประทับใจจากการเสียสละครั้งนี้อีกด้วย

ตัวอย่าง 2215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว

  • Come and See เอหิปัสสิโก

สารคดีผลงานการกำกับจาก ไก่ ณฐพล บุญประกอบ ผู้กำกับคนเดียวกันจาก 2215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว โดยสารคดีเรื่องนี้จะว่าด้วยการบันทึกเหตุการณ์ของวัดพระธรรมกายในช่วงปี 2560 เป็นช่วงที่มีการออกหมายจับพระธัมมชโยย อดีตเจ้าอาวาสของวัด จนนำมาสู่การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเหล่าศิษยานุศิษย์ของวัด พร้อมทั้งยังพาคนดูไปสำรวจชีวิต ทัศนคติ และความเชื่อที่มีต่อวัดพระธรรมกาย จากมุมมองของ ลูกศิษย์วัด. อดีตพระในวัด และเหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนา

สำหรับ Come and See เรียกได้ว่าเป็นหนังสารคดีที่มีความท้าทาย และโดดเด่นต่างจากเรื่องอื่น ๆ พอสมควร ไม่ว่าจะทั้งประเด็นการเล่าเรื่องที่ล่อแหลม ละเอียดอ่อน และรูปแบบการเล่าเรื่องที่ไม่ได้เน้นไปที่ประวัตศาสตร์ของวัด หรือทำออกมาเป็นสารคดีข่าวอย่างที่หลายคนคิด แต่เป็นสารคดีที่ทำมาเพื่อนำเสนอทัศนคติของแต่ละมุมมองที่คนไทยมีต่อวัดพระธรรมกายแบบไม่รีบด่วนตัดสิน พร้อมทั้งยังมาพร้อมการดำเนินเรื่องที่เนิบช้า แต่หนักแน่น ทำให้สารคดีเรื่องนี้อาจไม่ได้ถูกใจคนดูหนังกระแสนัก แต่สำหรับใครที่ชอบสารคดีคุณภาพ ดูจบแล้วมีคำถามในหัวให้ได้คิดต่อ นี่เป็นอีกเรื่องที่อยากแนะนำ

ตัวอย่าง Come and See

  • Paradoxocracy ประชาธิปไทย

สารคดีที่จะพาคุณไปทำความรู้จักกับระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยในไทย นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงเมื่อปี พ.ศ. 2475 จนถึงช่วงการทำรัฐประหารปี พ.ศ.2549 โดยหนังจะนำเสนอผ่านบทสัมภาษณ์บรรดานักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวด้านการเรียกร้องประชาธิปไตย ที่ต่างมาให้ความเห็นต่าง ๆ ออกมาได้เข้มข้น ดุเดือด ไม่ว่าจะเป็น ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล, รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร, จิระนันท์ พิตรปรีชา และสุลักษณ์ ศิวรักษ์

ผลงานการกำกับโดย เป็นเอก รัตนเรือง และ ภาสกร ประมูลวงศ์ โดยบทสัมภาษณ์แบบละเอียดทั้งหมดในหนังเรื่องนี้ก็ได้ถูกนำไปใช้ในหนังสือชื่อเดียวกัน ซึ่ง Paradoxocracy ประชาธิปไทย ก็ถือว่าเป็นหนังสารคดีไทยที่คนไทยควรดูมากที่สุด นอกจากนี้ยังมาพร้อมความท้าทายทั้งประเด็น และการนำเสนอ แต่มันกลับใกล้ตัวเราทุกคนอย่างไม่น่าเชื่อ

ความน่าสนใจของสารคดีเรื่องนี้คือการรวบรวมฟุตเทจเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ และการเล่าประวัติศาสตร์การเมืองไทยผ่านนักวิชาการ นอกจากนี้หนังยังนำเสนอในรูปแบบการเสนอข้อคิดเห็นของแต่ละบุคคลต่อระบอบประชาธิปไตยในไทย ที่แต่ละคนต่างแสดงความคิดเห็นออกมาได้ชวนคิดตาม ซึ่งหากใครที่กำลังอินการเมือง หรือสนใจประวัติศาสตร์ ขอแนะนำอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะได้ความรู้จากหนังเรื่องนี้เรา เรายังจะได้คำถามในหัวถึงประชาธิปไตยในไทยว่าแท้จริงแล้วมันมีจริงหรือไม่ และมีหน้าตาเป็นอย่างไร?

ตัวอย่าง Paradoxocracy

  • School Town King

สารคดีม้ามืดของไทยเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา ที่เป็นการหยิบเรื่องราวของ บุ๊ค–ธนายุทธ ณ อยุธยา ฉายา Elevenfinger  และ นนท์–นนทวัฒน์ โตมา ฉายา Crazy Kids 2 เด็กวัยรุ่นในย่านสลัมคลองเตย ผู้ใฝ่ฝันอยากเป็นแร้ปเปอร์ชื่อดัง และเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยเพลงแร้ป แต่ด้วยความที่ทั้งสองเติบโตในย่านที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำที่สุดของกรุงเทพฯ ทำให้พวกเขาต้องถูกกดขี่โดยความไม่เท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็น รัฐสวัสดิการ โอกาส ไปจนถึงการศึกษา ทำให้การเดินตามความฝันของทั้งสองดูเป็นเรื่องยาก และท้าทายยิ่งกว่าเด็กวัยรุ่นคนอื่น ๆ

สารคดีผลงานการกำกับของ เบสท์–วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย ที่ใช้เวลากว่า 3 ปีในการเก็บรวบรวมฟุตเทจ และเข้าไปตามติดชีวิตของเด็กวัยรุ่นทั้งสองคน ซึ่งหนังเรียกได้ว่ามาในแนวเดียวกับ Final Score แต่ทว่าเรื่องนี้กลับไม่ได้แค่บันทึกชีวิตของเด็กวัยรุ่นที่มีความฝันเท่านั้น แต่มันยังพูดถึงประเด็นการเมือง ความเหลื่อมลำ และค่านิยมแบบดั้งเดิมที่ถูกกดขี่โดยผู้ใหญ่

ซึ่งประเด็นเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่ใกล้ตัวเราทุกคน แต่หนังเรื่องนี้ก็สะท้อนประเด็นเหล่านั้นออกมาได้อย่างดีเยี่ยม จนมันทำให้สารคดีเรื่องนี้มีความเป็นขบถในตัวเองสูงมาก ด้วยเหตุนี้ทำให้ School Town King กลายเป็นหนังที่คว้ารางวัลในเวทีใหญ่ ๆ หลายรางวัลได้แก่ ภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม จากเวทีสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 29, ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากเวทีสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ครั้งที่ 11 และคมชัดลึกอวอร์ด ครั้งที่ 17

ตัวอย่าง School Town King

ติดตามบทความ ซีรีย์-หนัง ในทุกสัปดาห์ได้ที่ news-entertainments.com

รีวิวหนัง “Come and See เอหิปัสสิโก”: สารคดีที่มาพร้อมประเด็นสุดท้าทาย

Come and See เอหิปัสสิโก

Come and See” หรือชื่อไทย “เอหิปัสสิโก” คืออีกหนึ่งหนังสารคดีไทยสุดน่าจับตามองของปี 2021 นี้ก็ว่าได้ ด้วยความที่หนังเลือกที่จะหยิบประเด็นที่ละเอียดอ่อนอย่างพระพุทธศาสนา การเมือง ผ่านเหตุการณ์ของวัดพระธรรมกายเมื่อช่วงปี 2560 ด้วยมุมมองที่เป็นกลาง และสะท้อนประวัติศาสตร์ความเชื่อ และสังคมไทยออกมาได้ตรงไปตรงมา ซึ่งหนังเรื่องนี้ก็เป็นผลงานการกำกับโดย ไก่-ณฐพล บุญประกอบ มือกำกับหนังสารคดีที่เคยมีผลงานอย่าง “2215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว” มาแล้วเมื่อปี 2019

เนื้อหาของหนังจะแบ่งเป็นการนำเสนอสามส่วนด้วยกัน ได้แก่ การสัมภาษณ์เหล่าคนที่ทั้งศรัทธาในวัดพระธรรมกาย คนที่เลิกศรัทธาไปแล้ว รวมถึงสายตาจากเหล่าคนในวงการพุทธศาสนา การนำฟุตเทจข่าวเก่า ๆ มาเล่าผ่านลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีการบุกจับพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายในตอนนั้น และฟุตเทจที่ผู้กำกับได้เก็บรวบรวมจากการที่ไปร่วมใช้ชีวิตอยู่กับลูกศิษย์วัด ที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน

แม้ว่าตัวสารคคดีจะกำกับโดยคนเดียวกับที่เคยทำเรื่อง “2215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว” แต่สำหรับใน “Come and See” กลับมาพร้อมวิธีการเล่าเรื่องที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง ในขณะที่เรื่องก่อนหน้าจะเป็นการนำเสนอเพื่อเชิดชู ยกย่อง และพาคนไทยร่วมย้อนเหตุการณ์สุดประทับใจที่ ตูน Bodyslam ได้วิ่งทั่วประเทศไทยเพื่อหาเงินมาช่วยเหลือโรงพยาบาล ซึ่งสารคดีค่อนข้างมีความแมส และชัดเจนในตัวเอง

แต่สำหรับใน “Come and See” สารคดีจะนำเสนอในรูปแบบประเด็นปลายเปิด คือการไม่นำเสนอให้คนดูเชื่อไปในทางใดทางหนึ่ง แต่เป็นการตั้งคำถามกับคนดูว่าเมื่อดูสารคดีเรื่องนี้แล้วรู้สึกคิดเห็นอย่างไร หนังก็ไม่ได้นำเสนอในฐานะสารคดีข่าวที่พาย้อนประวัติศาสตร์อย่างละเอียด ใครที่หวังดูเรื่องนี้เพื่อหาสาระความรู้อาจผิดหวังไปพอสมควร นอกจากนี้หนังยังดำเนินเรื่องแบบเนิบช้า เน้นขายความเป็นธรรมชาติของฟุตเทจที่นำเสนอ ดังนั้นตลอดเวลาเกือบ 90 นาทีของสารคดีเรื่องนี้ ผู้ชมจะเหมือนได้ไปร่วมใช้ชีวิตเป็นลูกศิษย์วัดพระธรรมกาย และศึกษาความคิดของคนเหล่านั้นแบบลึกซึ้ง อีกหนึ่งความโดดเด่นของสารคดีเรื่องนี้ก็คือการถ่ายภาพ และการตัดต่อ ที่สามารถสะท้อนเรื่องราว และประเด็นของตัวเองได้อย่างยอดเยี่ยม หลาย ๆ ชอตสามารถนำเสนอไปควบคู่กับเสียงบรรยายได้อย่างเข้ากัน

ในตัวประเด็นที่โดดเด่น ชัดเจนมาก ๆ ของหนังคือการพูดถึงพระพุทธศาสนากับสังคมไทย ที่มีความเชื่อ ความศรัทธาในแต่ละระดับของแต่ละคนที่ต่างกันไป แต่ด้วยอิทธิพลของวัดพระธรรมกาย และตัวพระธัมมชโย ที่ได้มีอิทธิพลต่อการเผยแพร่ความเชื่อของศาสนา ทำให้เกิดความเชื่อเรื่องพุทธศาสนาในอีกด้าน ที่ต่างจากคำสอนแบบดั้งเดิม หนังได้พาเราไปเจาะลึกถึงความแตกต่างนั้น ผ่านมุมมองของฝั่งคนที่ศรัทธาในพระธรรมกายอย่างละเอียดลึกซึ้ง โดยไม่รีบให้เราด่วนตัดสินว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในหนังนั้นถูกผิดอย่างไร

จุดด้อยของ “Come and See” คือการที่สารคดียังตีประเด็นต่าง ๆ ได้ไม่สุดเท่าที่ควร อาจด้วยความยาวที่จำกัด และประเด็นที่ท้าทายเกินไป โดยเฉพาะในช่วงท้ายที่พูดถึงช่วงที่พระธัมมชโย ได้หายตัวไป ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งของศิษย์วัดพระธรรมกาย และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่เป็นช่วงที่ยากต่อการเก็บฟุตเทจ รวมถึงข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่ชัดเจน ทำให้สารคดีมีช่วงท้ายที่กำกวม ไม่ชัดเจน รวมถึงเรื่องราวด้านอื่น ๆ ของวัดพระธรรมกายที่ไม่ได้ถูกพูดถึงในเรื่องนี้

โดยรวม “Come and See” จัดว่าเป็นอีกหนึ่งหนังสารคดีไทยน้ำดี ที่ไม่ได้มีมาให้ได้ชมบ่อย ๆ เนื่องด้วยความท้าทายในประเด็นของหนัง รวมถึงลีลาการเล่าเรื่องที่ไม่ได้เน้นความแมสเหมือนเรื่องอื่น ๆ ตัวหนังได้พาเราไปร่วมย้อนเหตุการณ์ช่วงที่วัดพระธรรมกายเฟื่องฟูเมื่อปี 2560 อย่างละเอียดอีกครั้ง โดยนำเสนอจากมุมมองทั้งคนที่ศรัทธา และไม่ศรัทธา ต่อตัววัดธรรมกายได้อย่างเป็นกลาง พร้อมทั้งยังเป็นงานที่ดูจบแล้วชวนตั้งคำถามต่อคนดู ถึงศรัทธา ความเชื่อที่เรามีต่อศาสนาพุทธ และเหตุการณ์ดังกล่าวได้อย่างดีเยี่ยม

สามารถรับชม “Come and See” ได้แล้ววันนี้ที่ Netflix

Cr.ภาพ : Netflix

ติดตามบทความ ซีรีส์-หนัง ในทุกสัปดาห์ได้ที่ news-entertainments.com